วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

Sustainable Energy ความสำคัญของการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนและบทบาทของ ปตท


“พลังที่ยั่งยืน เพื่อไทย – Sustainable Energy for Thailand” เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินประโยคนี้ และเมื่อได้ยินก็เชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกถึงบริษัทพลังงานแห่งชาติอย่าง “ปตท.” วันนี้อยากจะมาเล่าแนวความคิดของ ปตท ในการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน – Sustainable Energy เพื่อเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักให้กับประเทศในการจัดหาพลังงานและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศของเรากัน โดยขอหยิบยกการร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อโรดแม็พพลังงานไทยสู่พลังงานสีเขียว ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 13 ธันวาคม 2555 ในงาน “Green Energy Forum: พลังงานสีเขียว ดุลยภาพสู่ความยั่งยืน –Sustainable Energy” ที่จัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีวิทยากรจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ นายนที ทับมณี รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน (สนพ.) ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และศาสตราจารย์ ดร.พลายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมอภิปราย
เมื่อมองดูหลายๆ ประเทศแล้ว ทำให้มองย้อนกลับมายังประเทศไทยว่าได้วางเป้าหมายหรือแนวทางในการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน – Sustainable Energy ไว้อย่างไร นายนทีกล่าวว่า ในภาพรวมระดับโลกได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่าเราจะต้องร่วมมือกันลดการใช้พลังงานเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลัก 2 ประการคือ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานหมุนเวียน ส่วนการดำเนินการของไทยได้มีการกำหนดโรดแม็พการใช้พลังงานสีเขียวภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศซึ่งเป็นกรอบใหญ่ที่วางไว้ โดยมีเป้าหมายในการสร้างการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและจำเป็นต้องเชื่อมโยงให้หลายภาคส่วนมาทำงานร่วมกันภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน
ศาสตราจารย์ ดร.พลายพลได้เสริมในประเด็นนี้ว่า หากไทยต้องการความสำเร็จในการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน – Sustainable Energy ดังที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศนั้นจะต้องอาศัยกลไกสำคัญ 3 ประการคือ ความมุ่งมั่นของภาครัฐที่จะวางนโยบายส่งเสริมในเรื่องนี้อย่างจริงจัง การสร้างแรงจูงใจต่างๆ อาทิ มาตรการด้านภาษี การสนับสนุนทางการเงินที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนได้มีส่วนร่วมและประการสุดท้ายคือเทคโนโลยีที่แม้ไทยจะไม่ได้เป็นผู้นำ แต่ควรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศได้อย่างเหมาะสมและได้รับการหนุนเสริมจากภาครัฐในด้านการวิจัยและพัฒนา
ในขณะที่ ดร.ไพรินทร์ให้มุมมองว่าในการพัฒนาพลังงานทดแทนแม้จะยังไม่อาจเทียบเท่ากับกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย หรือประเทศผู้นำด้านพลังงานทดแทนก็จริงแต่ในระดับอาเซียนนับว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ไทยต้องพัฒนาต่อไป ซึ่งในฐานะที่ ปตท. เป็นองค์กรที่มีภารกิจรับผิดชอบในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน จึงมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งด้านผลิตภัณฑ์กระบวนการการสร้างความตระหนักให้แก่พนักงานและประชาชนในเรื่องนี้ โดยได้ตั้งเป้าหมายในการแสวงหากลไกช่วยดูดซับคาร์บอนและให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอีกในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดีการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนากับการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน- Sustainable Energy หากพลังงานมีราคาถูกมากก็จะยิ่งเกิดการใช้พลังงานมากและส่งผลให้โลกร้อนยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันหากไม่มีพลังงานให้ใช้มนุษย์ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ จึงเป็นความท้าทายที่ต้องรักษาสมดุลระหว่างสองฟากฝั่ง คือ Demand Side กับ Supply Side ให้ได้
เมื่อพิจารณาความเหมาะสมของสัดส่วนการพัฒนาพลังงานสีเขียวในไทย ศ.ดร.พลายพลให้ความเห็นว่าพลังงานทดแทนที่โดดเด่นของไทยส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตร รวมถึงวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง แกลบ เหง้ามันสำปะหลัง ซังข้าวโพด ตลอดจนสิ่งปฏิกูลจากปศุสัตว์ ซึ่งนอกจากจะพัฒนาจากทางฝั่งภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว รัฐควรส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการพึ่งพาตนเองได้ในด้านพลังงานด้วยเนื่องจากวัตถุดิบเหล่านี้อยู่ในมือเกษตรกรหรือชุมชนอยู่แล้ว เมื่อผลิตและใช้ในพื้นที่ก็สามารถตัดขั้นตอนการขนส่งของเสียที่เหลือจากการใช้งานยังนำมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้อีกชุมชนได้ใช้พลังงานสะอาดทำให้เกิดความยั่งยืน – Clean Sustainable Energy ในการทำมาหากิน อย่างไรก็ดีนอกจากจะมีบทบาทในการผลิตพลังงานแล้วภาคประชาชนยังมีหน้าที่ในฐานะของผู้ใช้พลังงานด้วย “ที่สำคัญคือ อย่ามองเพียงแต่การหา Supply Side ที่จริงแล้วสิ่งที่จะมาแทนพลังงานฟอสซิลได้ที่ดีสุดคือการใช้อย่างประหยัด ทั้งยังเป็นการลงทุนที่ให้ Rate of Return สูงกว่าการผลิตพลังงานหมุนเวียนหลายประเภท”
ในประเด็นนี้สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.ไพรินทร์ ที่ได้ให้ข้อคิดทิ้งท้ายไว้ว่า ผู้ใช้พลังงานควรหันกลับมาพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ของตน “ในปัจจุบัน เราจะพูดกันถึงแต่สิทธิในการใช้พลังงานทุกรูปแบบ แท้จริงแล้วสิทธิและหน้าที่ของเราคือ ต้องประหยัดเพื่อเก็บพลังงานให้กับคนในรุ่นหน้า การอนุรักษ์พลังงานเป็นหน้าที่ของทุกคนถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมอารยะ ในการตัดสินใจเรื่องพลังงานว่าสิ่งที่เราตัดสินใจในวันนี้ไม่ควรอยู่บนพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ ที่ดีสำหรับเราในวันนี้เท่านั้น แต่ต้องยึดผลประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อลูกหลานของเราด้วย”